ขางแดง ๒

Rourea minor (Gaertn.) Leenh.

ชื่ออื่น ๆ
หมาตายพากราก (เหนือ); ถอบแถบ (ใต้)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ใบย่อย ๑-๖ คู่ ก้านใบย่อยป่อง มีสีคล้ำเมื่อแห้ง ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาวนวล ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว กลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

ขางแดงชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้ต้นกึ่งไม้พุ่มที่มีลำต้นตรง แต่ปลายกิ่งมักโน้มเอนลู่ลงสู่พื้น

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๑-๖ คู่ เรียงเยื้องกันเล็กน้อยหรือสลับกันชัดเจน ก้านใบและแกนกลางใบประกอบยาว ๕-๑๔ ซม. ก้านใบย่อยด้านข้างยาว ๒-๕ มม. ป่องและมีสีคล้ำเมื่อแห้ง ก้านใบย่อยที่ปลายแกนกลางยาว ๑.๑-๓ ซม. ใบย่อยด้านข้าง รูปรี รูปไข่ รูปไข่ค่อนข้างกว้างกึ่งรูปกลม จนถึงรูปใบหอก กว้าง ๑.๒-๔.๖ ซม. ยาว ๔.๒-๑๐.๘ ซม. ปลายแหลมยาว โคนมน แหลม หรือเว้าเล็กน้อย มีขนาดเท่ากันหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น ปลายโค้งขึ้นจรดกับเส้นถัดไปห่างจากขอบใบชัดเจน เส้นใบย่อยค่อนข้างโปร่งเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ใบย่อยที่ปลายรูปไข่หรือรูปรี ใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามง่ามใบ หรือออกเป็นช่อแน่น ๒-๕ ช่อ ใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๙ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปถ้วย ติดกันที่โคนสั้น ๆ ส่วนบนแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายมนกว้าง แต่ละแฉกซ้อนเกยกัน มีขนประปรายหรือเกลี้ยง ติดทน กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวนวล รูปรี ยาว ๔-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันที่โคน เกสรเพศเมีย ๕ อัน แยกกัน มีขนประปรายหรือเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลเจริญขึ้นเป็นผลเพียง ๑ ผลในแต่ละดอก เป็นผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกแกมรูปรี เรียวมนที่ปลาย กว้าง ๐.๕-๑.๒ ซม. ยาว ๑-๓ ซม. ส่วนบนโค้ง ปลายงอออกด้านนอก ผลแก่สีเหลือง เมล็ด ๑ เมล็ด มีเยื่อนุ่มหุ้ม

 ขางแดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามที่โล่งชายป่าดิบและป่าเหล่าที่ค่อนข้างโปร่ง ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม เป็นผลระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย จนถึงหมู่เกาะนิวแคลิโดเนีย นิวเฮบริด์ส ฟิจิ และซามัว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางแดง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rourea minor (Gaertn.) Leenh.
ชื่อสกุล
Rourea
คำระบุชนิด
minor
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph
- Leenhonts, Pieter Willem
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph (1732-1791)
- Leenhonts, Pieter Willem (1926- )
ชื่ออื่น ๆ
หมาตายพากราก (เหนือ); ถอบแถบ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข